สร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ สร้างสุขภาพดีใจมีสุข (จบ)

19 ม.ค. 2568 | 05:55 น.

สร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ สร้างสุขภาพดีใจมีสุข (จบ) : Healthcare Insight โดย ธานี มณีนุตร์

2.ดูแลสุขภาพใจ

นอกจากสุขภาพกายที่ดีแล้ว สุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กันสำหรับผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพใจที่ดีจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้นครับ ขั้นแรกเลยต้องลองมองหาความสุขในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ จากสิ่งที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันดูครับ เช่น บางคนอาจจะนั่งดูนก นั่งสมาธิ ฟังเพลงแนวที่ชอบ อ่านหนังสือหรือให้ลูกหลานอ่านให้ฟัง และการการทำกิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษในช่วงนั้น

สร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ สร้างสุขภาพดีใจมีสุข (จบ)

หมั่นให้ผู้สูงอายุรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือชุมชน จะช่วยให้รู้สึกไม่เหงาและมีความสุข นอกจากนั้นพยายามให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ช่วยให้สมองตื่นตัว และจะเริ่มยอมรับการเปลี่ยนแปลงว่าร่างกาย และจิตใจเปลี่ยนแปลงไปตามวัยแล้วนะ ก็จะช่วยให้เราปรับตัวและมีความสุขได้มากขึ้นครับ

3.สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

การจัดบ้านให้ผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะการจัดบ้านให้เป็นระเบียบจะช่วยให้ท่านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบาย ให้เคลื่อนไหวได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ยิ่งเมื่อร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย การปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากนั่งเองครับ เพื่อความปลอดภัยตรวจสอบบ้านให้ปลอดภัย ป้องกันการลื่นล้ม และอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด

ต้องดูแลและจัดการตั้งแต่ราวจับภายในบ้าน ในห้องน้ำ วัสดุที่ปูพื้นไม่ควรลื่น มีพื้นที่สำหรับไม้เท้า รถเข็นวีลแชร์ เครื่องช่วยเดิน และควรต้องมีโทรศัพธ์สำหรับติดต่อกรณีฉุกเฉินด้วย เพื่อให้สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนั้นพยายามอย่าวางสิ่งของบังทางผ่านของแสงแดด ควรให้มีแสงสว่างเพียงพอ จะทำให้รู้สึกสดชื่นและกระฉับกระเฉง

4. มีกิจกรรมยามว่าง

หากอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเดินได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับนึง ลองให้ไปเปิดหูเปิดตากับสถานที่ใหม่ ๆ ดูบ้างเป็นครั้งคราวครับ ลองให้เดินทางท่องเที่ยวให้ได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ ได้รู้สึกผ่อนคลาย หรือลองให้เริ่มจากการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ อย่างเช่น กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มศึกษา หรือกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ชมรมผู้สูงอายุก็ได้ครับ

สร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ สร้างสุขภาพดีใจมีสุข (จบ)

5.ไปพบแพทย์เป็นประจำ

ควรหมั่นไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพ และปรึกษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เพราะแน่นอนว่าคงปฎิเสธไม่ได้ว่าไม่มีโรคประจำตัวใช่ไหมครับ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะต้องทำคือการปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตัวเอง การกิน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ลดโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อร่างกายแข็งแรง สุขภาพใจก็จะดีตามไปด้วยนั่นเองครับ

และนี่คือเคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขนั่งเองครับ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการให้กำลังใจ และความรักแก่กันครับ ลูกหลานก็อย่าลืมดูแลคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ผู้ที่เป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทรในบ้านให้ดีนะครับ พาไปเที่ยวบ้าง เล่าเรื่องราวสนุก ๆ ให้ฟังบ้าง หรือแค่การนั่งคุยกันก็ทำให้ท่านมีความสุขแล้วครับ เพราะถึงร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป แต่หัวใจที่รักครอบครัวก็คงไม่เปลี่ยนตามครับ

แต่ทุกท่านเชื่อไหมครับว่าทุกอย่างที่ผมกล่าวมาทั้งหมดมีอยู่แล้วที่ “เนอร์ซิ่งโฮม” เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่ทำมาตรฐานด้านการดูแลไว้ดีเลยทีเดียวครับ แน่นอนว่าแตกต่างจากการที่เราดูแลเองแน่นอน เพราะมีทั้งแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลคนไข้อย่างผู้สูงอายุเป็นพิเศษ นักโภชนาการที่คอยดูแลเรื่องอาหารทั้ง 3 มื้อ และอาหารว่าง เครื่องดื่ม

นักกายภาพบำบัดที่คอยดูแลอยู่เสมอ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะมาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และที่สำคัญยังไม่ต้องทนเหงาอีกด้วย มีเพื่อนวัยเดียวกันให้คอยพูดคุยถึงสาระทุกข์สุกดิบตามประสาฮีโร่ ผู้ที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ สร้างสุขภาพดี ใจมีสุข หรือใช้เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุกันครับ

 

คอลัมน์ Healthcare Insight หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,062 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2568